วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กำเนิด พระพิฆเนศ

กำเนิดเชื่อกันว่า ลัทธิการบูชาพระคเณศนั้น น่าจะมาจากชนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดีย ซึ่งเป็นลัทธิการบูชาสัตว์ หรือลัทธิแห่งชัยชนะเหนือธรรมชาติ ชนพื้นเมืองของอินเดีย เชื่อกันว่าหนูเป็นสัญลักษณ์ของความมืด พระคเณศทรงขี่หนูจึงหมายถึงชัยชนะของแสงอาทิตย์ที่ขจัดความมืดให้สิ้นสุดลง พระคเณศอาจจะมีต้นกำเนิดมาจากการเป็นเทพประจำเผ่าของคนป่า ที่อาศัยอยู่ในป่าเขาอันกว้างใหญ่ของอินเดีย คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับฝูงช้างอันน่ากลัวจึงเกิดการเคารพในรูปของช้างชึ้น เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองและพัฒนาต่อมาเป็นเทพชั้นสูงของชาวอารยัน ต่อมาได้พัฒนาเป็นเทพผู้ขจัดซึ่งอุปสรรค มีความเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าของเทพที่มีเศียรเป็นสัตว์ทั้งหลาย จนกระทั่งมีการรจนาปกรณ์ให้เป็นโอรสของพระศิวะเทพและพระนางปราวตีในเวลาต่อมา แต่ในแง่ของคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ได้บรรยายจุดกำเนิดของพระคเนศไว้หลากหลายตำนานตามความเชื่อในแต่ละลัทธิ พอจะสรุปเป็นหลักๆได้ดังนี้


ตำนานที่ 1. วิฆเนศวรปราบอสูรและรากษส อสูรและรากษสได้ทำการบวงสรวงพระศิวะจนได้คำพรจากพระศิวะหลายประการ ยังให้เหล่าอสูรกลุ่มนี้ฮึกเหิมก่อความเดือดร้อนเป็นอันมาก พระอินทร์จึงทรงนำเทวดาทั้งหลายไปเข้าเฝ้าอ้อนวอนต่อพระศิวะ ขอให้พระองค์สร้างเทพแห่งความขัดข้องขึ้น เพื่อขัดขวางความพยายามของอสูรและรากษส พระองค์จึงทรงแบ่งส่วนกายหนึ่งให้เกิดบุรุษร่างงามจากครรภ์ของพระนางปราวตีและตั้งพระนามว่าวิฆเนศวร เพื่อทำหน้าที่ขวางทางอสูร รากษส และคนชั่วมิให้ทำการบัดพลีเพื่อขอพรจากพระศิวะ ทั้งยังเป็นผู้เปิดทางอำนวยความสะดวกต่อเทวดาและคนดีเพื่อเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ


ตำนานที่ 2. ปราวตีนำเหงื่อไคลปั้นเป็นลูก ครั้งหนึ่ง ชยาและวิชยา พระสหายของนางปราวตีได้แนะนำว่าปกติพระนางมักจะต้องใช้บริวารของพระศิวะอยู่เป็นประจำ ถ้าหากพระนางจะมีบริวารเป็นของตนเองก็คงจะดีไม่น้อย พระนางเห็นด้วย จนวันหนึ่งขณะที่ทรงสรงน้ำอยู่ตามลำพังก็ทรงนึกถึงคำพูดของพระสหายจึงได้นำเอาเหงื่อไคลออกมาสร้างบุรุษรูปงาม สั่งให้ไปยืนเฝ้าทวาร มิให้ใครเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นอย่างนี้มาหลายเพลา จนวันหนึ่งพระศิวะได้เสด็จมา ฝ่ายลูกก็ป้องกันแข็งขัน โดยไม่รู้ว่านั่นคือพ่อพระศิวะโกรธก็เลยสั่งให้ภูติและคณะของตนเข้าสังหารทวารบาลพระองค์นั้น บ้างก็ว่าพระศิวะพุ่งตรีศูลตัดเศียรลูก บ้างก็ว่าพระวิษณุเทพที่มาช่วยรบนั้นใช้จักรตัดเศียร ความทราบถึงพระนางปราวตีจึงเกิดศึกใหญ่ระหว่างเทพและเทพีขึ้นบนสวรรค์ ฝ่ายฤาษีนารอดอดรนทนไม่ได้ จึงได้เป็นทูตสันติภาพขอเจรจากับนางปราวตีเพื่อสงบศึก นางบอกว่าจะสงบศึกก็ต่อเมื่อลูกของนางฟื้นเท่านั้น พระศิวะจึงสั่งให้เทวดาเดินทางไปทิศเหนือให้เอาศีรษะของสิ่งมีชีวิตสิ่งแรกที่พบมาต่อกับโอรสของนางปราวตี ปรากฏว่าเทวดาได้เศียรของช้างซึ่งมีงาเพียงข้างเดียวมา เมื่อพระคเณศฟื้นขึ้นมา ทราบความจริงว่า พระศิวะคือพระบิดาก็ตรงเข้าไปขอโทษเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พระศิวะพอใจมากประสาทพรให้พระคเณศมีอำนาจเหนือภูติผีทั้งหลายและทรงแต่งตั้งให้เป็นคณปติ


ตำนานที่ 3. ขวางทางคนชั่วไปเทวาลัยโสมนาถและโสมีศวร พระนางปราวตีทรงเอาน้ำมันที่ใช้ในการสรงน้ำมาผสมกับเหงื่อไคลปั้นเป็นรูปคนแต่มีเศียรเป็นช้างจากนั้นได้เอาน้ำจากพระคงคาปะพรมให้มีชีวิตขึ้น เพื่อทำการขัดขวางแก่คนชั่วที่จะไปบูชาศิวะลึงค์ที่เทวาลัยโสมนาถและเทวาลัยโสมีศวรเพราะคนเหล่านี้หวังจะไปล้างบาปเพื่อมิให้ตกนรกทั้งเจ็ดขุม ด้วยเหตุนี้ การที่วันคเณศจาตุรถี นิยมเอารูปปั้นพระคเณศมาจุ่มน้ำหรือนำเทวรูปปูนชิ้นเล็ก ๆมาทิ้งตามแม่น้ำคงคา ชะรอยจะมาจากความเชื่อที่ว่าน้ำจากแม่พระคงคาจะทำให้พระคเณศมีชีวิตขึ้นมานั่นเอง


ตำนานที่ 4. พระคเณศ กฤษณะอวตาร พระนางปราวตีมเหสีของพระศิวะไม่มีโอรส พระศิวะจึงทรงแนะนำให้พระนางทำพิธีปันยากพรต (พิธีบูชาพระวิษณุเทพ ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือนมาฆะ) มีระยะเวลากำหนด 1 ปีเต็มและเมื่อครบกำหนด พระนางจะได้โอรสซึ่งเป็นพระกฤษณะอวตารไปจุติ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามคำตรัสของพระศิวะ ทวยเทพทั้งหลายมาร่วมอวยพรในกลุ่มเทพเหล่านี้มีพระศนิ (พระเสาร์) รวมอยู่ด้วย เมื่อพระศนิเหลือบมองพระกุมารทันใดนั้นเศียรกุมารก็ขาดจากพระศอกระเด็นไปยังโคโลกซึ่งเป็นวิมานของพระกฤษณะพระวิษณุจึงเสด็จไปยังแม่น้ำบุษปุภัทรเห็นช้างนอนหัวไปทางทิศเหนือจึงตัดเศียรช้างกลับมาต่อให้กับเศียรกุมารที่หายไป ตำนานนี้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่สร้างโดยกลุ่มที่นับถือพระกฤษณะเป็นใหญ่

ตำนานที่ 5 ศิวะ-อุมาแปลงกายเป็นช้างเข้าสมสู่ ครั้งหนึ่งพระศิวะและพระนางปราวตีได้เสด็จมายังแถบภูเขาหิมาลัยได้เห็นช้างสมสู่กันก็บังเกิดความใคร่ พระศิวะจึงได้แปลงเป็นช้างพลาย ส่วนนางปาราวตีแปลงกายเป็นช้างพังร่วมสโมสรจนมีลูกเป็นพระคเณศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น