วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตับ ทำอะหยัง ?

หน้าที่ของตับ โดย นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ
ตับมีหน้าที่สำคัญหลายประการ อันได้แก่การสร้างน้ำดี ซึ่งออกมาในลำไส้ ช่วยให้อาหารประเภทไขมันถูกย่อยและดูดซึมง่ายขึ้น เก็บสำรองอาหาร โดยเก็บเอากลูโคส (GLUCOSE)ไปสะสมไว้ในเซลล์ตับ ในสภาพของกลัยโคเจน(GLYCOGEN) และจะเปลี่ยนกลัยโคเจนกลับออกมาเป็นกลูโคสในกรณีที่ร่างกายต้องการใช้ได้ทันที สะสมวิตามินเอ ดี และวิตามินบีสิบสอง นอกจากนี้ยังกำจัดสารพิษที่ลำไส้ดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด เมื่อสารพิษผ่านตับ ตับก็จะทำลาย สารพิษบางชนิดตับทำลายไม่ได้ตรงกันข้ามจะไปทำลายเซลล์ตับ เช่น แอลกอฮอล์ (ALCOHOL) คาร์บอนเตตราคลอไรด์(CARBON TETRACHLORIDE) และคลอโรฟอร์ม (CHLOROFORM) เป็นต้น ตับจะทำหน้าที่สร้างวิตามิน เอ จากสารแคโรตีน (สารสีส้มที่มีอยู่ในแครอต และมะละกอ) ธาตุเหล็กและทองแดงจะถูกเก็บสะสมอยู่ที่ตับ เช่นเดียวกับวิตามิน เอ ดี และบีสิบสอง สร้างองค์ประกอบในการแข็งตัวของเลือด อาทิเช่น ไฟบริโนเจน (FIBRINOGEN) และโปรธรอมบิน(PROTHROMBIN) เป็นต้น และยังสร้างสารป้องกันการแข็งตัวของเลือด อันได้แก่ เฮปาริน(HEPARIN) ทำหน้าที่ในการกินและทำลายเชื้อโรคโดยมีเซลล์แมกโครฟาจ (MACROPHAGE) ที่อยู่ในตับ ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่าคุฟเฟอร์เซลล์ (KUPFFER'S CELL) และหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเป็นแหล่งพลังงานสร้างความร้อนให้แก่ร่างกาย ในขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์ ตับจะทำหน้าที่เป็นอวัยวะสร้างเม็ดเลือดแดง ตับจะยุติหน้าที่นี้โดยให้ไขกระดูกทำหน้าที่แทนในเวลาต่อมา นอกจากจะเป็นที่สร้างเม็ดเลือดแดงในระยะแรกแล้ว ในภาวะปกติคุฟเฟอร์เซลล์ที่บุเป็นผนังของแอ่งเลือดหรือไซนูซอยด์ (SINUSOID)จะทำหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดด้วย ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกายทำหน้าที่สำคัญมากมาย ถ้าเซลล์ตับถูกทำลายเสื่อมสภาพไปจะมีผลต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามตับเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์ในร่างกายแม้ว่ามีเซลล์ตับที่ดีเหลืออยู่เพียงร้อยละ ๑๐-๑๕ แต่ตับก็ยังสามารถรับภาระหน้าที่ต่าง ๆ ของตนเองที่จะประคับประคองชีวิตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น